ไวรัสโคโรน่า VS ไวรัสในพืช

Last updated: 18 มี.ค. 2563  |  4516 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไวรัสโคโรน่า VS ไวรัสในพืช

ช่วงนี้เรารับฟังข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 กันทุกวัน จนผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงไวรัสที่คนปลูกเมล่อน คงต้องเคยเจอกันมาแล้ว ถ้าบอกว่ามันเป็นไวรัสคนละชนิดกัน ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนไม่ได้ทำให้พืชเป็นโรค และ ไวรัสในพืชก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับคนเรา ก็ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกัน แต่ถ้าคิดในอีกมุมนึงก็ต้องบอกว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน จึงได้ลองนำมาเปรียบเทียบกันเป็นภาพสะท้อน


ไวรัส ที่เรากำลังพูดถึง คือ RNA virus ซึ่งมีขนาดเล็กมาก สามารถอาศัยสัตว์เป็นพาหะ ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ อากาศ หรือตามผิวสัมผัสต่างๆ สามารถติดต่อได้จากสารคัดหลั่ง จากการหายใจเอาละอองลองที่มีเชื้อ การสัมผัสเชื้อมาโดนตา จมูก ปาก เป็นต้น
ถ้าเราได้รับไวรัสเข้าไป เราจะป่วยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อนั้น และที่สำคัญคือระบบภูมิคุ้มกันของเรา อย่างที่เห็นว่าคนที่แข็งแรงอาจจะไม่มีอาการป่วยถึงแม้จะได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่อาจเป็นพาหะสามารถนำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่นต่อได้  ถ้าร่างกายอ่อนแอก็จะมีอาการป่วยแสดงออกมา

หากคนที่มีเชื้อไปสัมผัสใกล้ชิดกับคนอื่นๆ หรือ ไปพบปะผู้คน ก็มีโอกาสที่จะแพร่กระจายเชื้อออกไปในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว

โดยทั่วไปหากเป็นไข้หวัดธรรมดาที่เชื้อไวรัสไม่ร้ายแรง การพักผ่อนเพียงพอและดูแลสุขภาพจะทำให้ร่างกายเรากลับมาหายได้เองใน 2-3สัปดาห์ แต่สำหรับเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ซึ่งรุนแรงกว่า เราคงต้องรีบไปพบแพทย์ ไม่รอให้หายเองอยู่ที่บ้านเป็นแน่

ปัญหาก็คือ เราเองก็ยังไม่แน่ใจว่าอาการของไข้หวัดธรรมดา กับไข้หวัดโคโรน่า นั้นต่างกันยังไงในช่วงแรก พาให้คนที่เป็นหวัดผวากันไปทั้งเมือง เกณฑ์นึงที่ถูกนำมาใช้ช่วยในการแยกกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นเรื่องของการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อแล้ว และประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง

คำแนะนำของ WHO และกรมควบคุมโรค ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า มีดังนี้
1. ล้างมือบ่อยๆ ให้ทั่วด้วยน้ำสบู่ หรือ แอลกอฮอล์ที่เข้มข้นพอ เพราะ ถ้าบนมือมีการไปสัมผัสกับเชื้อมาแล้วเราสามารถฆ่าเชื้อกำจัดออกไปด้วยการล้างมือ ก่อนที่จะปนเปื้อนเข้าสู่ร่างการได้ถ้าเผลอมาจับหน้าจับตา หรือหยิบอาหารเข้าปาก

2.หลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนไปรวมตัวกัน หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้คนที่ ไอ จาม เพราะ หากคนเหล่านั้นมีเชื้อไวรัสอยู่ ไวรัสก็จะปนอยู่ในละอองลอยที่ออกมาพร้อมกับการไอจาม การหายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้าไปก็ทำให้ติดได้

3.หลีกเลี่ยงการจับหน้า ตา จมูก ปาก เพราะ อวัยวะเหล่านี้เป็นทางเข้าของเชื้อสู่ร่างกาย

4.รักษาสุขลักษณะขั้นพื้นฐาน ปิดปากจมูก เมื่อ ไอจาม ด้วยผ้า ทิชชู่ หรือหน้ากาก ไม่ควรใช้มือปิดปาก เพราะเชื้อจะอยู่ที่มือ และแพร่กระจายเมื่อเราใช้มือหยิบจับของอย่างอื่นต่อ

5.ทำตามสโลแกน “กินร้อน ช้อนส่วนตัว ” : กินร้อน เพราะ เชื้อไวรัสตัวนี้ถูกทำลายได้ด้วยความร้อน จึงเป็นการทำลายเชื้อที่อาจจะปนเปื้อนมาในอาหาร  ส่วน ช้อนส่วนตัว เพื่อป้องการกันติดต่อกันทางน้ำลาย หรือการจับด้ามช้อนคันเดียวกัน 


6.รีบพบแพทย์ทันที ที่มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล หรือ มีการติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วย


ที่ไล่เรียงเป็นข้อๆนี้ ถ้ามองกลับไปมุมของ ไวรัสในเมล่อน แทบจะล้อกันไปได้เกือบทุกข้อเลยทีเดียว


สำหรับในพืชตระกูลแตง อย่างเช่น เมล่อน แตงโม แตงกวา เป็นต้น เชื้อไวรัสเองก็มีหลากหลายสายพันธุ์ อาการต่างกันไป เช่น ใบหงิก เป็นปุ่มปม เป็นลายด่าง บางทีก็ดูคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ ทำให้เราผวาได้อยู่เหมือนกัน

สามารถติดต่อจากต้นนึงไปอีกต้นได้ค่อนข้างง่าย ซึ่งถ้าหากมีเมล่อนต้นนึงที่ติดไวรัสแล้ว เรามักจะไม่รอให้พืชหายป่วยเอง เพราะถึงตอนนั้นเชื้อก็คงจะระบาดไปติดต้นอื่นๆเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนั้นถึงแม้ต้นที่ติดไวรัสจะรอด ผลผลิตที่ได้ก็จะมีความผิดปกติ เช่น ผลบิดเบี้ยว เป็นปุ่มปม หรือ มีรอยกระดำกระด่าง เป็นต้น


ทางที่ดีควรกำจัดต้นที่ติดไวรัสโดยถอนออกให้ถึงราก แล้วนำไปกำจัดให้ห่างจากแปลงปลูกจะดีที่สุด ทั้งเศษชิ้นส่วนของพืชและน้ำยาง ก็สามารถทำให้ติดไปยังต้นอื่นได้

สาเหตุการติดไวรัสในพืชตระกูลแตง มีได้หลายอย่าง ตั้งแต่

 ติดมาตั้งแต่เป็นเมล็ด ถ้าต้นพ่อต้นแม่มีเชื้อไวรัส ก็สามารถส่งต่อมาถึงลูกได้ อย่างเช่น เมล็ดพันธุ์เมล่อนที่ผลิตจากแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์มีการติดเชื้อไวรัส ก็อาจจะได้เมล็ดที่มีไวรัสติดไปด้วย ข้อนี้วิธีการป้องกันคือเลือกเมล็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้และปลอดภัย

   เชื้อปนเปื้อนอยู่ในดิน จะเปรียบดินเป็นจานอาหารที่พืชจะต้องดูดน้ำและแร่ธาตุจากดินนี้ก็คงได้ ถ้ามีการทิ้งซากพืชที่ติดไวรัสไว้ในแปลงไม่ได้นำออกไปกำจัดด้านนอก ก็สามารถทำให้ติดต่อไปยังพืชที่ปลูกรอบต่อไปได้

  ปนเปื้อนมากับน้ำที่ใช้ในแปลง การเลือกแหล่งน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญ หากเป็นน้ำที่ไหลมาจากแหล่งน้ำที่มีไวรัส แปลงของเราก็คงไม่แคล้วติดไปด้วย เหมือนกับที่เราดื่มน้ำที่มีไวรัสหรือหายใจเอาละอองไวรัสเข้าไป

  แมลงพาหะ แมลงยอดฮิตที่มักพบเป็นพาหะไวรัส ได้แก่ แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ การที่เราปกป้องเมล่อนของเราจากแมลงเหล่านี้ นอกจากป้องกันการถูกแมลงเข้าทำลายแล้ว ยังเป็นการป้องกันการติดเชื้อไวรัสด้วย แปลงที่มีแหล่งสุมทุมพุ่มไม้ให้แมลงพวกนี้อาศัยอยู่ได้เยอะๆก็ยากที่จะจัดการ
ไวรัสไม่ได้ทำให้แมลงป่วย แต่อาศัยแมลงพาเชื้อไวรัสจากต้นนู้นมาติดต้นนี้ จากแปลงนี้ ไปแปลงข้างๆได้

ทำตัวคล้ายๆป้ามหาภัย

  การติดจากการสัมผัส ข้อนี้อยู่ที่การจัดการในแปลงเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจับด้วยมือ การตัดแต่งกิ่ง การติดตา อะไรก็ตามที่มีการสัมผัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่จะทำให้เกิดแผลที่ผิวของพืช ก็ยิ่งเป็นจุดอ่อนให้เชื้อเข้าสู่ต้นพืชได้ง่ายขึ้น หากเจ้าของเมล่อนสัมผัสต้นที่มีเชื้อแล้วไปสัมผัสต้นอื่นๆทั้งแปลงเราก็จะกลายเป็นตัวกระจายเชื้อแบบ super spreader เสียเอง

  วัชพืช วัชพืชบางชนิดที่ขึ้นอยู่ใกล้กับพืชของเรา ก็อาจจะเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสบางชนิดได้เช่นเดียวกันกับแมลง


ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโคโรน่า หรือ ไวรัสในเมล่อน ล้วนอาศัยหลักการคล้ายๆกันในการแพร่กระจาย

สิ่งสำคัญในการป้องการระบาด คือ การจัดการเรื่องความสะอาดขั้นพื้นฐาน ลดการสัมผัส การปนเปื้อนที่จะทำให้เกิดการติดต่อของโรคได้ 

ทุกวันนี้เราได้รับสื่อที่ปลูกฝังการป้องกันโรคระบาดมากขึ้นมาก ถือเป็นเรื่องดีที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการดูแลเมล่อนเสียเลย

ดูแลต้นไม้ให้แข็งแรงสู้โรคได้แล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเอง พักผ่อนเพียงพอ สร้างภูมิคุ้มกันแล้วไปลุยกันต่อ




โดย VW.
Cite:
https://ddc.moph.go.th/
https://www.who.int/emergencies/diseases/novel-coronavirus-2019/advice-for-public
https://www.researchgate.net/figure/Common-virus-symptoms-observed-in-melon-and-watermelon-fields-A-F-Melon-G-J-Watermelon_fig1_262524672
Plant Pathology and Management of Plant Diseases, IntechOpen,Elisheva Smith and Aviv Dombrovsky

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้